บ้านที่ผมอยู่ปัจจุบัน เรียกว่า " บ้านท่าเสา" ตั้งอยู่ บริเวณ ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี อยู่ห่างจากแม่น้ำแม่กลองไม่ถึง 100 เมตร ลักษณะเป็นบ้านไม้ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่น "พ่อของตา" หรือ อาจก่อนนั้น หากนับอายุบ้านถึงเวลานี้ ต้องมีถึง 100 กว่าปี ตัวบ้านมีการปรับปรุง ต่อเติม และซ่อมแซม ในแต่ละรุ่น แต่ละสมัย มาตามลำดับ เมื่อก่อนเป็นบ้านไม้ชั้นเดียวใต้ถุนสูง เพราะน้ำจะท่วมเป็นประจำทุกปี จากอิทธิพลของน้ำในแม่น้ำแม่กลองที่เอ่อสูงขึ้น พอมีเขื่อนที่เมืองกาญน์ฯ แล้ว น้ำจึงไม่ค่อยท่วม ยกเว้นบางปี มีน้ำมากจนเขื่อนรับไม่ไหวก็ท่วมเช่นกัน แต่นานๆ ครั้ง
กาลเวลาลุล่วงมาถึงสมัยผม ปัจจุบัน ผมได้เทปูนกั้นห้องใต้ถุน ทำเป็นที่อยู่อาศัยแล้ว ใต้ถุนจึงกลายเป็นชั้นที่ 1 ตอนนี้จึงเรียกได้ว่าเป็น "บ้าน 2 ชั้น" แล้ว แน่นอนครับ! บ้านที่มีประวัติยาวนานเช่นนี้ จึงมีข้าวของเครื่องใช้มากมายที่สะสมกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ จนถึงสมัยปัจจุบัน มีทั้งที่ยังดีอยู่ มีทั้งที่ชำรุด และบางอย่างก็หายสาบสูญไป โดยไม่รู้ว่าใครเอาไป
ผมตั้งใจที่จัดระเบียบข้าวของเครื่องใช้ที่รกรุงรัง จำนวนมากเหล่านี้ ให้มันแลดูเป็นระเบียบ แต่ก็ไม่ได้จังหวะเสียที ข้ออ้างที่ผมใช้เป็นประจำ คือ ไม่ค่อยมีเวลา ยิ่งนานวันเข้า ฝุ่นก็เริ่มจับ ปลวก หนู ก็เริ่มรุมแทะแกะกิน ยิ่งพอมีแมวมาอาละวาด ก็ปัสสาวะ อุจจาระ ราดรดสิ่งของเหล่านี้ ทำให้มีกลิ่นซึ่งไม่น่าโสภาเอาเสียเลย ทั้งรก ทั้งเหม็น ฝุ่น และหยักไย่เกาะเต็มไปหมด
ผมเคยตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะจัดระเบียบบ้านอย่างเอาจริงเอาจังเสียที แต่ก็ไม่เคยสำเร็จสักครั้ง เพราะเมื่อเห็นข้าวของจำนวนมากที่หมักหมมกันอยู่ ก็เกิดอาการท้อแท้เสียก่อน ล้มเลิกความตั้งใจเสียทุกครั้งไป
ตัดสินใจเริ่มต้น
นานวันเข้า ข้าวของเครื่องใช้ที่มีอยู่แต่เดิม รวมทั้งข้าวของเครื่องใช้ที่ได้ซื้อได้หามาใหม่ ยิ่งทวีความรกรุงรังขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะพวกเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ที่บ้านผมต้องซื้อตู้เสื้อผ้าใหม่อยู่เป็นประจำ เพราะไม่มีที่เก็บ ปัจจุบันบ้านผมมีตู้เสื้อผ้า ถึง 13 ใบ และยังมีแขวนอยู่ตามราวด้านนอกอีกไม่ต่ำกว่า 10 ราว เรื่องเสื้อผ้านี่นับเป็นปัญหาสำคัญ จนกระทั่งทุกวันนี้ ผมก็ยังหาวิธีจัดการกับเสื้อผ้าเหล่านี้ไม่ได้เลย ยังคงเต็มบ้านไปหมด
สร้างแรงบันดาลใจ
ผมคิดว่า "เมื่อไหร่ ผมจะเริ่มจัดระเบียบบ้านอย่างจริงจังเสียที" หากไม่เริ่ม ข้าวของต่างๆ ที่กองอยู่ มันส่งผลให้พื้นที่ใช้สอยในบ้านของเราลดน้อยลงทุกวัน บางครั้ง แม้แต่ในห้องนอน ยังต้องแหวกทางเดินเข้าไปยังที่นอน เพราะมันเต็มไปด้วยข้าวของที่วางระเกะระกะอยู่เต็มไปหมด
ผมได้มีโอกาสไปทำงานในหลายจังหวัด จึงมีโอกาสได้ไปพักโรงแรม รีสอร์ท หรือเยี่ยมชมสถานที่สวยๆ พบกับร้านอาหาร ร้านกาแฟ ที่ตกแต่งหลากหลายสไตล์ สิ่งเหล่านี้เองที่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญของผมที่อยากจะจัดบ้านของเรา ให้สวยเหมือนที่ผมได้เห็น
แรงบันดาลใจอีกประการหนึ่งก็คือ หนังสือชื่อ "ชีวิตดีขึ้นทุกๆ ด้าน ด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว" (The life-changing magic of tidying up) เป็นหนังสือแปลเขียนโดย "คนโด มาริเอะ" ชาวญี่ปุ่นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดบ้านอันดับหนึ่งของโลก เป็นหนังสือเกี่ยวกับเคล็ดลับการจัดบ้านที่ได้รับการแปลหลายภาษา เนื้อหาที่สำคัญคือการจัดบ้านแบบที่เรียกว่า "คมมาริ" จึงอยากจะลองใช้แนวทางดังกล่าวจัดบ้านดู
|
หนังสือ ชีวิตดีขึ้นทุกๆ ด้าน ด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว |
ลงมือทำ
ผมตัดสินใจตัดกิจธุระที่ไม่สำคัญออกไป แบ่งเวลามาจัดบ้าน และเริ่มลงมือทำอย่างจริงจัง เมื่อประมาณปี พ.ศ.2556 โดยเริ่มต้นจากพื้นที่เล็กๆ ก่อน ผมเอาข้าวของทุกชิ้นที่หมกอยู่ออกมา แล้ววางกระจายไว้บนพื้นที่โล่งๆ ให้เห็นได้เด่นชัด หลังจากนั้น จึงเริ่มพิจารณาดูของแต่ละชิ้น แล้วพยายามจัดกลุ่มสิ่งของใหม่ โดยแยกเป็น
- กลุ่มที่หนึ่ง สิ่งของที่สมควรทิ้ง
- กลุ่มที่สอง สิ่งของที่สมควรเก็บไว้
- กลุ่มที่สาม สิ่งของที่สมควรให้คนอื่นหรือบริจาคไป
- กลุ่มที่สี่ สิ่งของที่รอการตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร
การจัดกลุ่มสิ่งของที่กล่าวมานี้แหละครับ เป็นขั้นตอนที่ยากที่สุด เนื่องจากตัวเราเกิดความลังเลใจ และบางครั้งมันก็ไม่ใช่สิ่งของของเราเสียคนเดียว แต่มันเป็นของบรรพบุรษบ้าง เป็นของภรรยาบ้าง เป็นของลูกบ้าง มันยากนักที่จะตัดสินใจว่า อะไรจะอยู่ในกลุ่มไหน
|
นำสิ่งของออกมาวางให้เห็นเด่นชัด |
ผมพยายามหาหลักคิดว่า "จะใช้กฏเกณฑ์อะไร มาแยกกลุ่มสิ่งของเหล่านี้" หลังจากที่ลองผิดลองถูกอยู่นาน ผมก็พอที่จะประมวลหลักคิดที่ผมใช้ได้ ดังนี้
สิ่งของที่สมควรทิ้ง
- เป็นสิ่งของที่ไม่สามารถบอกเล่าเรื่องราวอะไรเลย ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
- เป็นสิ่งของที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว
- เป็นสิ่งของที่ชำรุดไม่สามารถซ่อมแซม หรือปรับปรุงให้คืนสภาพได้ เก็บเอาไว้รังแต่จะเป็นขยะ
- เป็นสิ่งของที่เราไม่ชอบ เมื่อเห็นมันทีไร จะรู้สึกไม่สบายใจ และสิ่งของนี้ไม่สมควรที่จะนำไปให้ใครทั้งสิ้น
สิ่งของที่สมควรเก็บไว้
- เป็นสิ่งของที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวในอดีต ปัจจุบัน และจะมีประโยชน์กับคนรุ่นต่อไปในอนาคต หากเราเก็บรักษาไว้
- เป็นสิ่งของที่เรายังคงใช้ประโยชน์อยู่ในชีวิตประจำวัน
- เป็นสิ่งของที่มีมูลค่าต่อจิตใจของตนเอง ซึ่งอาจเป็นอะไรก็ได้ เช่น ไดอารี่ สมุดบันทึก ภาพถ่ายเก่าๆ ของที่ระลึก การ์ดอวยพร ของขวัญ จดหมายเก่าๆ เป็นต้น
สิ่งของที่สมควรให้คนอื่นหรือบริจาคไป
- เป็นสิ่งของที่ยังคงใช้ประโยชน์ได้ดี แต่เราไม่ได้ใช้หรือหมดความจำเป็นแล้ว หากมันอยู่กับผู้อื่นน่าจะมีประโยชน์มากกว่า สิ่งของเหล่านี้ที่เห็นได้ชัด คือ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย
- เป็นสิ่งของที่เราไม่ชอบ เมื่อเห็นมันทีไร จะรู้สึกไม่สบายใจ แต่น่าจะมีประโยชน์ต่อคนอื่น
สิ่งของที่รอการตัดสินใจ
- เป็นสิ่งของที่เราเองก็ยังไม่แน่ใจว่า จะทิ้ง จะเก็บ หรือจะบริจาคดี
- เป็นสิ่งของที่ไม่ได้เป็นของเรา ซึ่งต้องรอถามเจ้าของก่อนว่า จะจัดสิ่งของเหล่านี้อยู่ในกลุ่มใด คือ สมควรทิ้ง สมควรเก็บไว้ หรือสมควรที่จะบริจาค
เมื่อเราแยกกลุ่มสิ่งของได้แล้ว ขั้นต่อไปก็คือ หาวิธีจัดการกับมัน เช่น สิ่งของที่สมควรเก็บ เราจะเก็บไว้ที่ไหน สิ่งของที่สมควรให้คนอื่นหรือบริจาค จะบริจาคให้ใคร ใครบ้างที่เขาอยากได้ อย่าไปบริจาคให้คนที่เขาไม่อยากได้ อย่างนี้มันจะกลายเป็นภาระของเขาอีก ส่วนสิ่งของที่สมควรทิ้ง แยกให้ดีว่า สิ่งของใดสามารถนำไปขายยังร้านรับซื้อของเก่าได้ หรือว่าจะโยนทิ้งลงถังขยะไปเลย เป็นต้น
**************************